โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)

หูดชนิดนี้เป็นโรคติดต่อได้จากผิวหนังสู่ผิวหนัง และจัดเป็นโรคที่ไม่รุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย และในวัยเจริญพันธุ์มักพบรอยโรคที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์จึงถือได้ว่าเพศสัมพันธ์เป็นการถ่ายทอดเชื้อโรคอีกวิธีหนึ่ง

โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) คืออะไร

โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum) เกิดจากการติดเชื้อไวรัส Molluscum contagiosum virus ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสคนละชนิดกับที่ทำให้เกิดหูดทั่วไป เป็นโรคติดต่อโดยการสัมผัสทางผิวหนังที่พบได้บ่อยโดยมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อ และมีรอยนูนขนาดเล็ก คล้ายสิว บนผิวหนังชั้นนอก สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ วัยทารก วัยเด็ก และผู้สูงอายุ  โดยมักแสดงอาการในผู้ที่มีภูมิต้านทานของร่างกายอ่อนแอ  เด็กเล็กจะสามารถติดหูดชนิดนี้ได้มากกว่าผู้ใหญ่ เพราะระบบภูมิต้านทานยังพัฒนาไม่เต็มที่ และในวัยเจริญพันธุ์มักพบรอยโรคที่บริเวณอวัยวะสืบพันธุ์จึงถือได้ว่าเพศสัมพันธ์เป็นการถ่ายทอดเชื้อโรคอีกวิธีหนึ่ง

โรคหูดข้าวสุก

ระยะฟักตัวของโรค

เชื้อชนิดนี้อยู่ที่ประมาณ 2-7 สัปดาห์ไปจนถึง 6 เดือน จึงทำให้ในบางรายพบอาการของโรคได้หลังจาก 6 เดือนผ่านไปแล้ว

สาเหตุการเกิดโรคหูดข้าวสุก

โรคหูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)  เกิดจากเชื้อไวรัส  Molluscum contagiosum virus (MCV) ซึ่งเป็นประเภทหนึ่งของ poxvirus ชนิดของไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้ทรพิษ ไวรัสชนิดนี้เจริญเติบโตในสภาพแวดล้อมที่อุ่นและชื้น  และในคนที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS ก็จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการเป็นโรคหุูดข้าวสุก ซึ่งเชื้อไวรัสจะเกิดขึ้นบริเวณชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่เป็นผิวหนังชั้นนอกสุดเท่านั้นประมาณสัปดาห์ที่ 7 ก็จะเกิดผดที่เป็นรูปโดมจะเริ่มขึ้นบนผิวหนัง รอยโรค จะมีลักษณะ ดังนี้

  • มีหูดเหนียวแบบขี้ผึ้ง และมีสีเหมือนผิวทั่วไป
  • มีเส้นผ่าศูนย์กลางเฉลี่ยอยู่ที่ 3-5 มิลลิเมตร
  • อาจมีรอยบุ๋มตรงกลางซึ่งอาจทำให้มีน้ำหนองสีขาว หรือเทาไหลซึมออกมาถ้าหากบีบ หรือเกิดอาการระคายเคือง
  • สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทั่วร่างกายโดยเฉพาะบนใบหน้า คอ แขน ขา ท้อง และบริเวณอวัยวะเพศ
  • น้อยครั้งที่จะเกิดขึ้นบนฝ่ามือหรือฝ่าเท้า

โดยทั่วไปแล้ว ตุ่มมักจะไม่แสดงอาการเจ็บปวด และไร้ความรู้สึก แต่อาจเกิดอาการคัน เจ็บ และอักเสบ (มีรอยแดงและบวม) โดยเฉพาะเมื่อเกา

การถ่ายทอดเชื้อเกิดขึ้นโดยการสัมผัส นอกจากการมีเพศสัมพันธ์แล้ว การสัมผัสโดยตรง เช่น การจับทารกหลังจากจับรอยโรค อาจทำให้ทารกเป็นหูดข้าวสุกได้ ในผู้ใหญ่มักเป็นเฉพาะที่บริเวณอวัยวะเพศ แต่ในเด็กอาจแสดงอาการได้ทั่วร่างกาย เช่น ข้อพับแขน-ขา และ ลำตัว เป็นต้น และจะเกิดในเด็กได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ เพราะภูมิคุ้มกันในร่างกายยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ อาจติดต่อระหว่างเล่นกับเด็กคนอื่นที่มีเชื้อชนิดนี้ หรือติดจากบุคคลในครอบครัวเดียวกัน  

ส่วนในวัยรุ่นและผู้ใหญ่มักติดต่อได้ง่ายทางเพศสัมพันธ์ รวมไปถึงการเล่นกีฬาประเภทต่าง ๆ ที่มีการสัมผัสโดนกัน รวมไปถึงการใช้สิ่งของที่มีการปนเปื้อนของเชื้อร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์กีฬา  

โรคหูดข้าวสุกเกิดที่ไหนได้อีกบ้าง

มักพบขึ้นตามลำตัว แขนขา รักแร้ ข้อพับแขน ขาหนีบ บริเวณอวัยวะเพศ (โดยเฉพาะในผู้ใหญ่) และอาจพบได้ที่บริเวณใบหน้าและรอบดวงตา

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงติดเชื้อโรคหดข้าวสุก

  • เด็กที่มีช่วงอายุ 1-10 ขวบ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันในเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่ (ส่วนในเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่านี้จะมีภูมิคุ้มกันที่ส่งผ่านจากมารดาอยู่ จึงมักไม่ติดเชื้อนี้)
  • นักกีฬาที่ต้องมีการสัมผัสโดยตรงทาง ร่างกายกับผู้อื่น
  • ผู้ป่วยโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง  หรือโรคผิวหนังอื่น ๆ ที่เป็นผื่นแล้วต้องเกาบ่อย ๆ
  • ผู้ที่อยู่อาศัยในโซนเขตร้อน
  • ผู้ป่วยที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอ เช่น ผู้ติดเชื้อ HIV/AIDS
อาการของโรคหูดข้าวสุก

อาการของโรคหูดข้าวสุก   

  • พบตุ่มบริเวณผิวหนังเป็นตุ่มเดี่ยว ๆ หรืออยู่กระจุกเป็นกลุ่มได้ถึง 20 ตุ่ม 
  • เริ่มจากมีจุดสีแดง ต่อมาเป็นตุ่มเล็กๆ สีแดง 
  • ตุ่มมีขนาดเล็กประมาณ 2-5 มิลลิเมตร ผิวสัมผัสมีความเงาและเรียบ
  • มีสีเนื้อเช่นเดียวกับผิวหนัง มีสีขาวหรือชมพู
  • อาจมีตุ่มคล้ายมีสารสีขาวอยู่ภายใน  โดยลักษณะเป็นรูปทรงโดม หรือมีรอยบุ๋มตรงกลาง คล้ายเม็ดสิวแต่ไม่มีการอักเสบ เวลาบีบออกจะได้สารสีขาวข้น
  • เกิดอาการคัน เจ็บ และอักเสบ (มีรอยแดงและบวม) โดยเฉพาะเมื่อเกา
  • สามารถเกิดได้ทุกที่บนร่างกาย แต่จะไม่เกิดบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้า มักพบบริเวณใบหน้า ท้อง ลำตัว แขน ขา อวัยวะเพศ ต้นขาด้านใน ผิวหนังที่สัมผัสหรือเสียดสีกันบ่อย เช่น ข้อพับ

เมื่อใด ควรไปพบแพทย์

  • เมื่อไม่แน่ใจว่าลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นตุ่ม และที่เป็นคือหูดหรือไม่
  • เมื่อท่าน หรือคู่นอนมีอาการข้างต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง 
  • เมื่อมีเพศสัมพันธ์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง กับผู้ติดเชื้อ
  • เมื่อมีการสัมการสัมผัสโดยตรง บริเวณที่เกิด

การวินิจฉัยโรคหูดข้าวสุก

  • แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบื้องต้นด้วยการซักถามประวัติ ลักษณะอาการของโรค
  • ตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการร่วมด้วย เพื่อยืนยันการติดเชื้อได้แม่นยำมากขึ้น ซึ่งการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ สามารถทำได้หลายวิธี
    • ตรวจดูบริเวณผิวหนังที่มีการติดเชื้อด้วยกล้องจุลทรรศน์
    • การขูดผิวหนัง (Skin Scraping)
    • การเก็บตัวอย่างจากบริเวณรอยโรคอย่างชัดเจนไปตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ (Biopsy)
  • หากมีการติดเชื้อบริเวณอวัยวะเพศ แพทย์อาจมีการตรวจถึงความเป็นไปได้ในการติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น ๆ อย่างเช่นโรคเริมด้วย

การรักษาโรคหูดข้าวสุก

โดยผู้ที่ได้รับเชื้อสามารถหายเองได้ภายใน 6-12 เดือนโดยไม่ต้องรับการรักษา และการรักษาสามารถทำได้หลายวิธีหรืออาจใช้หลายวิธีร่วมกัน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับขนาด จำนวน และตำแหน่งของหูดที่เกิดภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์

  • การใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของกรดซาลิซิลิก (Salicylic Acid) โพแทสเซียม ไฮดรอกไซด์ (Potassium Hydroxide) ไฮโดรเจนเพอร์ออกไซด์ (Hydrogen Peroxide) หรือเบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide) เพื่อช่วยทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมียาในรูปแบบเจลหรือครีมที่มีส่วนผสมของเรตินอยด์ (Retinoids) เช่น ทาซาโรทีน (Tazarotene) อะดาพาลีน (Adapalene) และเตรติโนอิน (Tretinoin) ถึงแม้เป็นยาที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัย และสตรีตั้งครรภ์ กำลังวางแผนจะมีบุตร หรืออยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์ก่อนการใช้ยา รวมถึงแจ้งแพทย์ให้ทราบถึงสภาวะต่าง ๆ ของร่างกาย
  • การจี้ทำลายโรคด้วยความเย็น (Cryotherapy/Cryosurgery) เป็นอีกรูปแบบของการใช้ไนโตรเจนเหลว (Liquid Nitrogen) ที่มีความเย็นจัดในการทำลายหูด
  • การรักษาด้วยแสงเลเซอร์ (Pulsed Dye Laser Therapy) เป็นแสงเลเซอร์ชนิดที่รักษาความผิดปกติของเส้นเลือดบนผิวหนังที่นิยมใช้โดยแพทย์ผิวหนัง
  • การขูดเนื้อเยื่อ (ขูดเอาตุ่มออกด้วยเครื่องมือพิเศษ)
  • ยารับประทาน เช่น cimetidine
  • ผู้ป่วยควรสังเกตลักษณะอาการของการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนที่รอยโรคอยู่เสมอ เช่น การมีหนอง อาการปวดบวม แดงร้อน เป็นต้น หากมีอาการดังกล่าวผู้ป่วยควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดเพื่อตรวจการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน หรือเมื่อรอยโรคหรือที่แผลจากการรักษามีการเปลี่ยนแปลงไปหรือผิดปกติไปจากเดิม หรือผู้ป่วยมีความกังวลในอาการ ก็ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัดด้วยเช่นกัน
  • หูดข้าวสุกจะเป็นโรคที่สามารถหายได้เอง เมื่อไม่ได้รับการรักษา แต่ก็เป็นโรคที่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้บ่อยหลังการรักษา หรือหลังการหายจากโรคในครั้งแรก 
  • ห้ามใช้ยาทาทุกชนิดในหญิงตั้งครรภ์ (ยกเว้น TCA) และถึงแม้ว่าจะสามารถซื้อมาทาเองได้ที่บ้าน แต่แนะนำว่าควรไปพบแพทย์ก่อนเสมอ

ภาวะแทรกซ้อนโรคหูดข้าวสุก

  • หูดหรือผิวหนังบริเวณรอบ ๆ อาจมีการอักเสบและแดง เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อการติดเชื้อ บางรายที่มีการถลอกจากการเกาหรือแกะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่ายมากขึ้น 
  • ส่วนในผู้ที่มีหูดบริเวณเปลือกตาอาจก่อให้เกิดอาการตาแดงจากเยื่อตาอักเสบได้
  • ผู้ที่แกะหรือเกาตรงรอยโรคอาจทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน จนทำให้เกิดอาการอักเสบและเมื่อแตกก็จะกลายเป็นแผลเป็นได้
การป้องกันโรคหูดข้าวสุก

การป้องกันโรคหูดข้าวสุก

  • การหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อให้มากที่สุด 
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม เพราะการสวมถุงยางจะป้องกันได้เฉพาะผิวหนังขององคชาตและช่องคลอดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถป้องกันผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ได้
  • ล้างมือให้เป็นนิสัย โดยเฉพาะหลังการจับสิ่งของที่เป็นส่วนรวม จะช่วยป้องกันและการแพร่กระจายของเชื้อได้ดี ไม่เพียงแต่เฉพาะเชื้อโรคชนิดนี้ แต่ยังรวมไปถึงเชื้อโรคชนิดอื่นด้วย
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวรวมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว ที่โกนหนวด สบู่ก้อน แปรงสีฟัน เสื้อผ้า
  • หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของสาธารณะและอุปกรณ์ที่มีโอกาสสัมผัสกับผิวหนังได้โดยตรง
  • หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์หากมีหูดข้าวสุกบริเวณใกล้อวัยวะ เพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาจากตัวเอง และเพื่อป้องกันการสัมผัสรอยโรคสู่ผู้อื่น
  • ทำความสะอาดสิ่งของเครื่องใช้ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ โดยเฉพาะอุปกรณ์ในสถานที่ที่ใช้ร่วมกัน เช่น ในสถานที่ออกกำลังกาย
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์รวมทั้งผักและผลไม้ที่มีวิตามินหลายอย่างคละเคล้ากันไป
  • มีสามีหรือภรรยาคนเดียว

การดูแลรักษาตัวเองระหว่างเป็นโรคหูดข้าวสุก

  • ควรแจ้งให้คู่นอนทราบ และไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาไปพร้อม ๆ กัน
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่ปกคลุมรอยโรค เพื่อป้องกันการเกาจากตัวเอง และเพื่อป้องกันการสัมผัสรอยโรคสู่ผู้อื่น
  • เมื่อสัมผัสรอยโรค ควรล้างมือด้วยสบู่ล้างมือให้สะอาด หรือถ้าไม่มีที่ล้างมือก็ควรใช้แอลกอฮอล์ชนิดเจลทำความสะอาดแทน
  • ควรใช้ปลาสเตอร์กันน้ำแปะตรงรอยโรคนอกร่มผ้า
  • ไม่ใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ฟองน้ำ
  • ควรทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สัมผัสรอยโรคด้วยการซักด้วยผงซักฟอกหรือน้ำยาซักผ้าตามปกติ แล้วนำไปตากแดดหรือรีดด้วยเตารีดเพื่อป้องกันมิให้เชื้อเจริญเติบโ
  • งดการใช้สระว่ายน้ำในขณะที่มีรอยโรค แต่หากจำเป็นต้องปกคลุมรอยโรคด้วยปลาสเตอร์กันน้ำ
  • งดการมีเพศสัมพันธ์ แม้จะใส่ถุงยางอนามัยก็ตาม เพราะการสวมถุงยางจะป้องกันได้เฉพาะผิวหนังขององคชาตและช่องคลอดเท่านั้น แต่จะไม่สามารถป้องกันผิวหนังบริเวณอื่น ๆ ได้

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่นี่

อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :

  • หูดข้าวสุก https://www.mplusthailand.com/โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ/หูดข้าวสุก/
  • หูดข้าวสุก https://www.pobpad.com//หูดข้าวสุก
  • โรคติดเชื้อระบบสืบพันธุ์น่ารู้: หูดข้าวสุก https://www.si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1096
  • หูดข้าวสุก คืออะไร https://ihealzy.com/molluscum-contagiosum-0112/
  • หูดข้าวสุก อาการ สาเหตุ และการรักษาโรคหูดข้าวสุก 20 วิธี !! https://medthai.com/หูดข้าวสุก/