โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจเร็ว รู้ก่อน รักษาได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นโรคที่ติดเชื้อ และแพร่เชื้อไปยังผู้อื่นผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทั้งจากการร่วมเพศทางช่องคลอด ทางปาก หรือทวารหนัก สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบมากในหมู่วัยรุ่น เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มักไม่แสดงอาการ บางคนที่แข็งแรง และสุขภาพดี อาจได้รับเชื้อโดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งคนส่วนใหญ่ไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในด้านการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เท่าไรนัก ส่งผลให้คู่รักหลายคู่ต้องเผชิญกับอาการไม่พึงประสงค์จากการมีเพศสัมพันธ์ รุกรามไปจนถึงขั้นร้ายแรง และไม่ยอมไปพบแพทย์เนื่องด้วยความอาย จนเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ทันเวลา การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ก็สามารถทำการรักษาได้ทันท่วงที และการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ตรวจเร็ว รู้ก่อน รักษาได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ คืออะไร?

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันว่า STI (ย่อมาจาก Sexually Transmitted Infection) หรือ STD (ย่อมาจาก Sexually Transmitted Diseases)  คือ โรคที่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ทุกอย่าง ที่สามารถติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งระหว่างการมีเพศสัมพันธ์  ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์ทางอวัยวะเพศ ช่องคลอด ทวารหนัก ทางปาก รวมถึงการสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อ เช่น อสุจิ เลือด น้ำในช่องคลอด และของเหลวในร่างกายอื่นๆ และยังสามารถติดต่อจากแม่สู่ทารกในครรภ์ได้ ผ่านจากการให้เลือด หรือถ่ายโอนเลือด หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกันในผู้ติดสิ่งเสพย์ติดอีกด้วย

สาเหตุโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยมีอะไรบ้าง?

  • เชื้อไวรัสเอชไอวี  (HIV)/โรคเอดส์ (AIDS) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human immunodeficiency virus) 
  • โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า ทรีโพนีมา พาลลิดัม Treponema pallidum
  • โรคหูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human papilloma virus: HPV)
  • โรคเริมที่อวัยวะเพศ (Genital Herpes) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex virus: HSV-1, HSV-2) 
  • โรคหนองในแท้ (Gonorrhea) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อว่า ไนซีเรีย โกโนเรีย Neisseria gonorrhoeae 
  • โรคหนองในเทียม (Chlamydia infection) เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อว่า คลามัยเดียทราโคมาติส (Chlamydia Trachomatis)
  • โรคฝีมะม่วง (Lymphogranuloma venereum: LGV)  เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียคลามีเดียทราโคมาติส ชนิด L1, L2, L3 (Chlamydia Tracho matis L1-L3) 
  • โรคแผลริมอ่อน (Chancroid) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ฮีโมฟิลุสดูเครย์ (Haemophilus ducreyi) 
  • พยาธิในช่องคลอด (Trichomoniasis หรือ Trich) เเกิดจากการติดเชื้อโปรโตซัวที่มีชื่อว่า Trichomonas vaginalis 
  • โรคไวรัสตับอักเสบบี และโรคไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี  (Hepatitis B virus หรือ HBV) –  เชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C virus หรือ HCV)
  • โรคตัวโลน (Crab Louse) เกิดจากปรสิตภายนอกตัวเล็ก ๆ ที่ดูดเลือดจากผิวหนัง
อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้

อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้

โดยอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จะมีความแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค และอาจเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศอย่างเดียว หรือเกิดกับอวัยวะอื่นๆ ในร่างกายได้ทั้งหมด โดยมีอาการดังนี้

  • มีไข้ ไม่สบาย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ
  • มีอาการปวดท้องน้อย
  • มีตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ
  • ตกขาวมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง
  • มีตุ่ม มีผื่น หรือแผล บริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก
  • ปวดหรือมีตุ่มทั้งภายในและภายนอกอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก
  • อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศชาย
  • อวัยวะเพศหญิงมีเลือดไหลผิดปกติ
  • เจ็บหรือแสบขัดเวลาปัสสาวะ
  • มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • เชื้อบางชนิด อาจไม่แสดงอาการในระยะแรก หรือบางระยะโรค เช่น หูดหงอนไก่ชนิดที่ก่อมะเร็งปากมกลูก (High risk group HPV),เริม,เอดส์,ซิฟิลิสบางระยะ เป็นต้น

การตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

ทำได้หลายวิธี แพทย์จะเลือกการตรวจที่เหมาะสมที่สุดจากการซักประวัติ ซึ่งวิธีตรวจหลักๆ จะมีดังนี้

  • ตรวจเลือด หรือปัสสาวะ เป็นการตรวจที่นิยิมที่สุด เพราะสามารถตรวจได้หลายโรค เช่น เชื้อเอชไอวี เริม หนองใน ซิฟิลิส และไวรัสตับอักเสบ
  • ตรวจภายใน (Pap smears) ปกติแล้วการตรวจด้วยวิธีแปป สเมียร์ เป็นการตรวจเพื่อสังเกตอาการเริ่มต้นของมะเร็งปากมดลูก แต่มะเร็งปากมดลูกก็อาจเกิดจากการติดเชื้อ HPV เมื่อมีเพศสัมพันธ์ได้เช่นกัน
  • ตรวจสารคัดหลั่ง ในบางกรณีแพทย์อาจใช้การเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศ ปากมดลูก ทางเดินปัสสาวะ หรือทวารหนัก เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อได้
  • ตรวจร่างกาย ในกรณีที่อาการเริ่มแสดงออกมาให้เห็นแล้ว การตรวจร่างกายก็สามารถใช้ประกอบการวินิจฉัยได้ เช่น เริม หูด ซิฟิลิส เป็นต้น
การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยการกิน หรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง ส่วนโรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น เริม การรักษาจะช่วยควบคุมอาการโรคได้ แต่การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี ร่างกายอาจกำจัดเชื้อได้เอง หากกำจัดไม่ได้เชื้ออาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งในอนาคต ซึ่งการรักษามีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย หรือปรสิต ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ
  • ยาต้านไวรัส (Antivirus) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเริม โดยควรรับยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลสุขภาพ แต่เชื้อจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

  • การไม่มีเพศสัมพันธ์เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด แต่ถ้าเป็นไปไม่ได้ การมีคู่นอนคนเดียวและคู่นอนไม่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะช่วยลดโอกาสเกิดโรคได้ 
  • การใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี และทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์
  • การเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้ และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย
  • การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี โดยเฉพาะก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี
  • ควรตรวจเลือดประจำปีทุกครั้ง เพื่อหาเชื้อโรคในกลุ่มที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะคู่ที่แต่งงานใหม่ การพบแพทย์เป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรค หากเป็นในระยะแรกก็จะรักษาได้ทันท่วงที

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

ทุกคนควรมีการเข้าใจ และการเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และให้ความสำคัญกับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพทั่วไปของตนเอง และคนรอบข้าง