ไวรัสตับอักเสบบี (Hepatitis B) เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ส่งผลต่อตับเป็นหลัก ทำให้เกิดการอักเสบ หากติดเชื้อแล้วไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจนำไปสู่การเป็นตับอักเสบเรื้อรัง ตับแข็ง และเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งตับได้ ทั้งนี้ในปัจจุบันเรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันไวรัสตับอักเสบบีได้ ช่วยป้องกันการติดเชื้อไวรัส และลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆได้
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อกันได้อย่างไร ?
ไวรัสตับอักเสบบี ติดต่อโดยการสัมผัสเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อผ่านทางผิวหนังที่มีบาดแผล การใช้ของส่วนตัวที่ปนเปื้อนเลือด หรือสารคัดหลั่งร่วมกับผู้ที่ติดเชื้อ เช่น มีดโกน แปรงสีฟัน ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และจากมารดาสู่ทารก
ไวรัสตับอักเสบบีอาการเป็นอย่างไร ?
อาการของไวรัสตับอักเสบบี สามารถแบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
ระยะเฉียบพลัน เป็นแล้วหายภายใน 6 เดือน
เมื่อรับเชื้อไปแล้วราว 2 – 3 เดือน จะมีอาการเป็นไข้ เป็นหวัด ปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์จะมีอาการตับอักเสบ ตัวเหลือง ตาเหลือง ถ้าตรวจดูจะมีค่า การทำงานของตับสูงกว่าปกติ อาการพวกนี้จะดีขึ้นภายใน 2 – 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมา และผู้ป่วยส่วนมากจะไม่กลับมาเป็นไวรัสตับอักเสบบีอีก แต่ถ้าภูมิคุ้มกันไม่สามารถจัดการกับเชื้อไวรัสได้ ก็จะกลายเป็นระยะเรื้อรัง
ระยะเรื้อรัง เป็นนานกว่า 6 เดือน
- พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผลการตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ
- เรื้อรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ
ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหารได้ การติดเชื้อแบบเรื้อรัง พบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิดและยังเป็นอันตรายที่อาจนำไปสู่ ตับแข็ง มะเร็งตับ และเสียชีวิตในที่สุด
ไวรัสตับอักเสบบี ป้องกันได้อย่างไร ?
ไวรัสตับอักเสบบี สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน สามารถฉีดได้ตั้งแต่ทารกแรกเกิด โดยฉีดเหมือนกันกับผู้ใหญ่ ทั้งหมด 3 เข็ม เมื่อฉีดวัคซีน ครบ 3 เข็ม ส่วนใหญ่พบว่าร่างกายสร้างภูมิคุมกันได้มากถึง 95% และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต อย่างไรก็ตาม หลังจากได้รับวัคซีนครบ 3 เข็ม ประมาณ 1-2 เดือน ควรเข้ารับการตรวจเลือดเพื่อยืนยันว่ามีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบบี หากยังไม่มีภูมิต้านทาน ควรฉีดวัคซีนเพิ่มตามคำแนะนำของแพทย์
ใครบ้างที่ควรฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ?
- ทารกแรกเกิด
- ผู้ที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบี
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ที่ใช้เข็มฉีดยาร่วมกับผู้อื่น
- บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ที่ทำงานในสถานพยาบาล
- ผู้ป่วยโรคตับเรื้อรัง
- ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่ได้รับการฟอกไต
- ผู้ป่วยที่ได้รับเลือดบ่อยๆ
ผลข้างเคียงของวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
ผลข้างเคียงของวัคซีนไวรัสตับอักเสบบี ที่อาจพบหลังจากฉีด ได้แก่ มีไข้ต่ำๆ ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีดวัคซีน ปวดเมื่อย เพลีย ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ข้ออักเสบ ผื่นที่ผิวหนัง ซึ่งมักหายได้เองภายใน 1-2 วัน หากมีอาการปวดบวมบริเวณที่ฉีดวัคซีนให้ประคบเย็น แต่ถ้ามีอาการผิดปกติอื่นนอกเหนือจากนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์
อ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติม
ขอบคุณข้อมูล : samitivejhospitals, synphaet
วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี เป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ โดยทั่วไปพบว่าหลังฉีดวัคซีนครบ 3 เข็ม สามารภสร้างภูมิต้านทานต่อไวรัสตับอักเสบได้ถึง 95% และสามารถป้องกันการติดเชื้อได้นานตลอดชีวิต ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนแก่ผู้ที่ยังไม่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และผู้ที่ยังไม่มีภูมิต้านทานทุกคน