หากจะพูดถึงเรื่อง รักษาซิฟิลิส ปัจจุบันหากตรวจพบเชื้อไว เป็นไปได้ว่าคุณจะหายขาดจากโรคนี้ได้โดยง่าย ยิ่งมีความเสี่ยงมาใหม่ๆ และได้รับการตรวจคัดกรองทันที แพทย์จะทำการรักษาและหยุดอาการของโรคซิฟิลิสลงได้ แต่หากคุณผ่านการรับเชื้อมามากกว่า 1 ปีแล้ว อาจจะต้องมีการเพิ่มระยะเวลาในการรักษานานขึ้น เราจึงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการป้องกัน และการตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจำ
ซิฟิลิส ติดต่อผ่านช่องทางไหน
ซิฟิลิส เป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Treponema Pallidum (ทรีโพนีมา พาลลิดัม) มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 0.2 ไมครอน และยาวประมาณ 6-20 ไมครอน มีลักษณะเป็นเกลียว ต้องส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์จึงจะสามารถมองเห็นได้ โรคนี้จะติดต่อได้ผ่านช่องทางที่คล้ายคลึงกับเชื้อไวรัสเอชไอวี เพราะฉะนั้นการไปตรวจเอชไอวี แพทย์มักจะแนะนำให้ทำการตรวจซิฟิลิสไปพร้อมกัน ในผู้ที่มีความเสี่ยง ได้แก่
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
- สัมผัสกับแผลที่มีเชื้อโดยตรง
- การติดต่อผ่านคุณแม่ตั้งครรภ์สู่ลูก
- การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
ระยะฟักตัวของซิฟิลิส
เชื้อซิฟิลิสมีระยะฟักตัวอยู่ที่ประมาณ 2-4 สัปดาห์ เราสามารถตรวจพบเชื้อได้หลังมีความเสี่ยงที่ 30 วันขึ้นไป และแนะนำให้ตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 90 วัน ซึ่งสามารถแบ่งประเภทการตรวจซิฟิลิสออกเป็น ดังนี้
การตรวจซิฟิลิสชนิดไม่เฉพาะเจาะจง
การตรวจแบบนี้มีให้บริการในทุกสถานพยาบาล เพราะสามารถตรวจได้ง่าย ราคาไม่แพง และรู้ผลที่รวดเร็ว แต่ก็ไม่ใช่วิธีที่มีความแม่นยำสูงสุด เพราะมีโอกาสที่จะเกิดผลบวกปลอมได้ เนื่องจากสิ่งที่ตรวจวัดในเลือดเป็นแอนติบอดี (Antibody) ต่อสารโปรตีนหลายชนิดในร่างกาย ซึ่งหลายคนอาจคุ้นหูวิธีการตรวจซิฟิลิสแบบ VDRL และแบบ RPR ที่ให้ผลการตรวจออกมาผลบวกหรือลบ เช่น ผลบวกน้อย บวกปานกลาง หรือบวกมาก หรือหากห้องแล็บนั้นทำการละลายน้ำเหลืองเพื่อตรวจหาระดับแอนติบอดีด้วย จะรายงานผลตรวจออกมาเป็นค่าไตเตอร์ (Titer) เช่น 1:2, 1:4, 1:8, 1:16 เป็นต้น ซึ่งผลบวกปลอมที่เกิดขึ้นจากการตรวจซิฟิลิสชนิดไม่เฉพาะเจาะจง แบ่งเป็น 2 ผลตรวจ คือ
- ผลบวกปลอมชนิดชั่วคราว (น้อยกว่า 6 เดือน) เนื่องจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ หรือแบคทีเรียชนิดอื่นที่ไม่ใช่สาเหตุของโรคซิฟิลิส
- ผลบวกปลอมชนิดชั่วคราว (มากกว่า 6 เดือน) เนื่องจากเป็นโรคภูมิต้านทานต่อเนื้อเยื่อของตนเอง หรือโรคมะเร็งของต่อมน้ำเหลือง
การตรวจซิฟิลิสชนิดเฉพาะเจาะจง
การตรวจแบบนี้จะมีให้บริการเฉพาะห้องปฏิบัติการที่มีความชำนาญ หรือสถานพยาบาลขนาดใหญ่ ที่มีแพทย์เฉพาะทาง จึงมีความแม่นยำสูง แต่มีราคาแพงกว่าชนิดแรก ได้แก่ การตรวจ FTA-ABS ที่ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ชนิดพิเศษ การตรวจ EIA การตรวจ CMIA และการตรวจ TPHA เป็นต้น
อาการของซิฟิลิส
ระยะแรก (Primary Syphilis)
- ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบบวมโต
- มีแผลเล็กๆ ลักษณะเรียบ ขอบแข็ง ขนาดประมาณ 2-4 มิลลิเมตร บริเวณอวัยวะเพศชาย อัณฑะ ท่อปัสสาวะ อวัยวะเพศหญิง ช่องคลอด หัวหน่าว รอบทวารหนัก หรือริมฝีปาก ไม่รู้สึกเจ็บ ไม่มีหนอง เรียกกันว่า “แผลริมแข็ง” มักจะมีอยู่แค่แผลๆ เดียว ซึ่งจะหายไปได้เองภายใน 1-2 สัปดาห์
ระยะที่สอง (Secondary Syphilis)
- มีผื่นขึ้นตามร่างกาย ไม่รู้สึกคัน ทั้งฝ่ามือ ฝ่าเท้า ข้อต่างๆ
- ปวดศีรษะ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ คล้ายคนเป็นไข้หวัดใหญ่
- ผมร่วงเป็นหย่อมๆ หรือแม้แต่ขนคิ้วก็มีการร่วงอย่างเป็นที่สังเกตเห็นได้
- แผลริมแข็งที่เคยหายไปในตอนแรกจะกลับมาเป็นอีกครั้ง เมื่อผ่านระยะเวลาไปประมาณ 6 สัปดาห์ถึงครึ่งปี แล้วแต่สุขภาพของผู้ติดเชื้อ ซึ่งจะหายไปได้เองเช่นกันเหมือนอาการในระยะแรก แม้ไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม
ระยะแฝง (Larent Syphilis)
เป็นระยะที่มีความน่ากลัวที่สุด เพราะผู้ป่วยจะไม่มีอาการใดๆ แสดงออกมาให้เห็นเลย จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อทำการตรวจซิฟิลิสเท่านั้นก่อนโรคจะดำเนินเข้าสู่ขั้นระยะสุดท้ายภายในเวลาประมาณ 2-30 ปี
ระยะที่สุดท้าย (Late Stage Syphilis)
- มีแผลขนาดใหญ่บริเวณผิวหนัง และภายในร่างกาย
- มีอาการเดินเซ บ้านหมุน ชัก ตามัว หูหนวก ตาบอด ความจำเสื่อม เสียสติ
- หากผู้ที่มีเชื้อซิฟิลิสไม่ได้รับการรักษา หรือมีการรักษาที่ไม่ถูกวิธี จะส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อสุขภาพร่างกาย ระบบประสาท สมอง หัวใจ หลอดเลือด อวัยวะต่างๆ ทำงานผิดปกติอาจมีอาการเจ็บป่วยจากโรคต่างๆ หากไม่ได้ทำการรักษาก็จะทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
รักษาซิฟิลิส อย่างไร
ซิฟิลิสรักษาได้ด้วยการฉีดยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนนิซิลิน โดยขนาดของยาและระยะเวลาที่ให้ยาจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่ตรวจพบ
ระยะของโรคซิฟิลิส | การรักษาด้วยยาฉีด | การรักษาด้วย ยารับประทาน | หมายเหตุ |
ระยะที่ 1 ระยะที่ 2 ระยะแฝงช่วงต้น (ไม่เกิน 1 ปี) | ฉีดยา Benzathine Pennicillin G ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อครั้งเดียว โดยแบ่งฉีดที่บริเวณสะโพก ข้างละ 1.2 ล้านยูนิต | ทานยา Doxycycline 100 mg วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกัน 14 วัน | แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ยาตัวอื่นตามความเหมาะสม |
ระยะแฝงช่วงปลาย (เกิน 1 ปี) ระยะสุดท้าย | ฉีดยา Benzathine Pennicillin G ขนาด 2.4 ล้านยูนิต เข้ากล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นาน 3 สัปดาห์ | ทานยา Doxycycline 100 mg วันละ 2 ครั้ง หลังอาหาร ติดต่อกัน 28 วัน | แพทย์อาจพิจารณาเลือกใช้ยาตัวอื่นตามความเหมาะสมและตามอาการ |
หลังจากได้รับการรักษาแล้วจะยังมีการติดตามผลการรักษาที่ 3, 6, 9, 12 และ 24 เดือนหลังการรักษาครั้งสุดท้าย อาการของผู้ป่วยควรจะหายดีภายใน 3-6 เดือน และผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ
รักษาซิฟิลิส มีข้อปฏิบัติอย่างไร
ในระหว่างที่ทำการรักษาโรคนี้อยู่ควรทำตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด เพราะหากไม่จริงจังในการรักษา ซิฟิลิสถือเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ค่อนข้างร้ายแรงกว่าเชื้อเอชไอวีเสียด้วยซ้ำ ดังนั้น คุณควรจะทำตามคำแนะนำของแพทย์ ดังนี้
- งดมีเพศสัมพันธ์ชั่วคราว หรือจนกว่าจะหายดี
- ไปตามแพทย์นัดทุกครั้ง ไม่ควรขาดนัดเพื่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ
- หากมียาชนิดรับประทานควรทานอย่างมีวินัย
- ดูแลสุขภาพตัวเอง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และทานอาหารที่มีประโยชน์
- ดื่มน้ำเปล่าเยอะๆ และงดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการสูบบุหรี่
มีไหมที่ รักษาซิฟิลิส ไม่หาย?
กรณีที่กระบวนการรักษาโรคซิฟิลิสไม่หาย อาจมีปัจจัยได้หลายอย่าง เช่น
- ระยะการดำเนินของโรคที่อยู่ในระยะที่มีความยากในการรักษา
- ผู้ป่วยซื้อยามารักษาเองโดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์
- การไม่ไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งของคนไข้
- ผู้ที่มีเชื้อกลับไปมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่ยังไม่ได้รับการตรวจและรักษา
- คนไข้มีอาการดื้อยา (พบได้น้อยมาก)
- คนไข้ยังมีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
สิ่งสำคัญที่จะทำให้ขั้นตอนที่ รักษาซิฟิลิส หายขาดได้อย่างสนิท คือการที่คนที่พบเชื้อซิฟิลิส ชวนคู่นอนของตัวเองมาทำการตรวจ และรักษาไปพร้อมๆ กัน เพื่อช่วยลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำระหว่างกัน การเปิดใจพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมา ไม่ใช่เรื่องที่น่าอายหรือควรปิดบัง เพราะการดูแลสุขภาพถือเป็นเรื่องที่ควรให้ความใส่ใจ อีกทั้ง การรักษาโรคซิฟิลิสนั้นยังทำได้ง่ายตามที่กล่าวมาข้างต้น หากคุณและคู่นอนของคุณรู้ผลตรวจไว ก็จะยิ่งช่วยให้กำจัดเชื้อได้ไวยิ่งขึ้น และมีสุขภาพทางเพศที่ดีด้วยกันทั้งคู่