เป็นหนองใน ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ?

เป็นหนองใน ต้องดูแลตัวเองอย่างไร ?

หนองใน สามารถแบ่งออกได้ 2 ประเภท คือ หนองในแท้ และ หนองในเทียม

  • หนองในแท้ (Gonorrhoea)  โรคหนองในที่สามารถพบได้ทั้งเพศชาย เพศหญิง และทารกแรกเกิด เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Neisseria gonorrhoeae โดยเชื้อหนองในประเภทนี้จะมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียประมาณ 1-10 วัน 
  • หนองในเทียม (Non Gonococcal Urethritis) โรคหนองในเทียมมีอาการคล้ายกับโรคหนองในแท้ แต่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อว่า Chlamydia trachomatis โดยเชื้อหนองในประเภทนี้จะไม่ค่อยแสดงอาการที่ชัดเจน และมีระยะการฟักตัวของเชื้อแบคทีเรียนานกว่า 10 วันขึ้นไป

ใครบ้างที่เสี่ยงติดโรคหนองใน

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อหนองใน คือ การสัมผัสของเหลวในร่างกายของผู้มีเชื้อหนองใน เช่น เยื่อบุช่องคลอด องคชาต ทวารหนัก ช่องปาก ดวงตา ในช่องคอ รวมถึงอาจติดได้จากมารดาสู่ทารกในระหว่างการคลอดได้ ซึ่งปัจจัยหลักๆที่ทำให้เสี่ยงการติดเชื้อโรคหนองในคือ ผู้ที่ไม่มีสวมถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ผู้ที่เคยติดเชื้อหนองในหรือเคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆมาก่อน ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย และผู้ที่ติดยาเสพติด

ดูแลตัวเองอย่างไร ? เมื่อเป็นโรคหนองใน

  • หากเกิดอาการ ปัสสาวะแสบขัด หรือมีอาการปวด หรือมีผื่นขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ แล้วรีบไปพบแพทย์ หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคหนองใน หลังจากที่ได้รับการรักษาแล้ว ควรพาคู่นอนมารักษาโรคหนองในและตรวจเอชไอวีด้วยเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคกลับมาเกิดซ้ำได้อีก อีกทั้งควรงดกันมีเพศสัมพันธ์ไปจนกว่าจะหายดีทั้งคู่
  • ผู้ป่วยที่เป็นโรค หนองใน ทุกรายจำเป็นต้องได้รับการรักษา ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ทุกคนที่จะแสดงอาการออกมาให้เห็นได้ชัด หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน หรือในบางรายก็อาจมีอาการที่ดีขึ้นได้เองก็ตาม ไม่แนะนำให้ปล่อยทิ้งไว้ หรือเพิกเฉย ไม่ไปรับการรักษา เพราะตัวผู้ป่วยเองก็จะยังคงแพร่เชื้อไปยังคู่นอนได้และยังสามารถรับเชื้อกลับเข้ามาได้อีก ซึ่งอาจจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นตามจำนวนครั้งที่ได้รับเชื้อเข้าไป หากภาวะแทรกซ้อนนั้นทวีความรุนแรงมากขึ้นก็อาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้
  • ในระหว่างที่ทำการรักษาโรคหนองใน ห้ามมีเพศสัมพันธ์เป็นเวลา 2 – 4 สัปดาห์ เพื่อหลีกเลี่ยงการแพร่เชื้อ แต่ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้จริงๆ ก็ต้องป้องกันด้วยการใช้ถุงยางอนามัยอย่างเคร่งครัด อีกทั้งต้องงดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นเวลา 1 เดือน เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะทำให้หนองไหลเพิ่มมากขึ้น
  • ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่อง “อาหารแสง” ที่ทำให้โรคหนองในทวีความรุนแรง อาทิ หูฉลาม อาหารทะเล หน่อไม้ หรือสาเก เป็นต้น ในทางการแพทย์นั้นยังไม่มีการยืนยันที่แน่ชัด แต่สิ่งที่แน่นอนที่สุด คือ การงดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดเป็นเวลา 1 เดือน หากไม่ปฏิบัติตาม ก็จทำให้หนองไหลมากยิ่งขึ้น ส่วนอาหารประเภทอื่นๆ ถ้ากินแล้วทำให้อาการของโรคกำเริบก็แนะนำให้งดอาหารชนิดนั้นๆ ไปก่อน
  • ยาปฏิชีวนะสำหรับการรักษาโรคหนองในจะมีผลต่อประสิทธิภาพของยาเม็ดคุมกำเนิด ซึ่งในระหว่างที่ทำการรักษา จึงควรงดการมีเพศสัมพันธ์ และในรอบเดือนนั้น ควรใช้วิธีการคุมกำเนิดอย่างอื่นร่วมด้วย อาทิ การใช้ถุงยางอนามัย
  • ภายหลังที่ได้รับการรักษาแล้ว ส่วนใหญ่ อาการต่างๆ จะหายไปค่อนข้างเร็วภายใน 2 – 3 วันที่เริ่มทำการรักษา ไม่ว่าจะเป็น อาการตกขาวผิดปกติ และแสบขัดเวลาที่ปัสสาวะ ส่วนอาการเลือดออกแบบกะปริดกะปรอยในระหว่างรอบเดือนนั้นก็จะดีขึ้นในรอบหน้า ส่วนอาการปวดท้องน้อยและอาการปวดอัณฑะในผู้ชายจะเวลานานกว่าจึงจะดีขึ้น และจะหายไปภายใน 2 สัปดาห์ แต่หากอาการต่างๆ ไม่ดีขึ้น ควรรีบกลับไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินซ้ำอีกครั้ง เพราะอาจพบภาวะเชื้อดื้อยา หรือโรคมีการลุกลามเพิ่มมากขึ้น
  • หากได้รับการรักษาแล้ว แต่มีอาการที่คล้ายกับว่าจะแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการที่เป็นอยู่นั้นรุนแรงมากขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ก่อนนัด
  • เมื่อรักษาตามอาการจนครบแล้ว ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจซ้ำจนกว่าจะแน่ใจ ว่าเชื้อหนองในหายสนิทในทุกตำแหน่งที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้ว อาทิ ช่องปาก ทวารหนัก ช่องคลอด เป็นต้น
  • ผู้ที่เป็นโรคหนองใน หลังจากที่ได้รับการรักษาจนหายดี แต่หากได้สัมผัสโรคอีกครั้งก็จะกลับมาเป็นซ้ำอีก

#หนองใน#รักษาหนองใน

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่นี่