อาการในแต่ละระยะ ของโรคซิฟิลิสเป็นอย่างไร ?

อาการในแต่ละระยะ ของโรคซิฟิลิสเป็นอย่างไร

“ซิฟิลิส” ถือเป็นโรคทางเพศสัมพันธ์อีกชนิดที่เกิดขึ้นจากการไม่ดูแลตนเอง ไม่ป้องกันในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เชื้อตัวนี้มีชื่อว่า Treponema Pallidum เข้าสู่ร่างกายผ่านรอยแผล การขีดข่วน การเสียดสีจนเกิดแผลเล็ก ๆ ซึ่งนอกจากการติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่ป้องกันแล้ว ยังมีอีกสาเหตุจากแม่สู่ลูกด้วย โดยโรคซิฟิลิส อาการจะแบ่งออกเป็นระยะต่าง ๆ ได้ดังนี้

ระยะที่ 1 (Early/Primary Syphilis)

ระยะนี้ยังไม่แสดงอาการใด ๆ ออกมาชัดเจนนัก อาจมีแผลริมแข็งเล็ก ๆ ที่บริเวณปลายหรือลำอวัยวะเพศชาย ไม่มีอาการใด ๆ รบกวนจึงทำให้หลายคนไม่ทันสังเกตตนเอง ขณะที่ผู้หญิงแผลอาจอยู่ในรูทวารหนักหรือซ่อนในช่องคลอด ดังนั้นในระยะที่ 1 นี้จึงไม่ค่อยมีใครรีบไปพบแพทย์นอกจากคนที่รู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งแผลริมแข็งทีว่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้ยาก็หายเองได้

ระยะที่ 2 (Secondary Stage)

เมื่อแผลริมแข็งที่สังเกตเห็นหายไป ผู้ป่วยที่ยังคงมีเชื้อนี้ในร่างกายมักเกิดอาการผื่นขึ้นตามลำตัว หรือออกไปทั่วทุกส่วนของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ไม่รู้สึกคัน ผู้ชายบางรายบริเวณอวัยวะเพศจะมีแผลนูน ๆ เกิดขึ้น ซึ่งอาการที่เริ่มแสดงออกชัดเจนคือ เริ่มรู้สึกปวดเมื่อยบริเวณกล้ามเนื้อ มีไข้ เจ็บคอ บางรายอาจมีอาการต่อน้ำเหลืองโตออกมาจนเห็นชัด อาการดังกล่าวเป็นไม่นานแค่สัปดาห์เดียวหรือไม่กี่สัปดาห์ แต่ก็ยังเกิดขึ้นใหม่ได้เรื่อย ๆ

ระยะสงบ (Latent Syphilis)

คนที่ไม่ได้สังเกตตัวเอง แต่มีเชื้อซิฟิลิสในร่างกายจนผ่านระยะ 2 มา จะเข้าสู่ระยะแฝง ซึ่งอาการก็ยังไม่แสดงออกให้น่าตกใจใด ๆ ซึ่งระยะแฝงนี้จะมีระยะเวลายาวนาน บางรายอาจแฝงไว้หลายปีจนลืมไปแล้วว่าเคยเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ระยะที่ 3 (Tertiary Syphilis)

บางรายที่โชคดี เมื่อเกิดระยะ 1, ระยะ 2 ไปจนถึงระยะแฝงแล้วจบแค่นั้น ไม่มีอาการใด ๆ แสดงออกมาอีก แต่ไม่ใช่กับทุกคน เพราะส่วนใหญ่คนที่มีเชื้อซิฟิลิส 15-30% มักเข้าสู่ระยะที่ 3 เพราะไม่ได้ทำการรักษาตั้งแต่แรก เป็นระยะที่มีความรุนแรงมากสุด เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อระบบสมองให้มีอาการบาดเจ็บ อีกทั้งยังทำลายระบบประสาท, การทำงานของหัวใจ, ตับ, ดวงตา, กระดูก ข้อต่อ, เส้นเลือด ซึ่งมีผลต่อร่างกายโดยตรง

ปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อโรคซิฟิลิสเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มวัยรุ่น และกลุ่มรักร่วมเพศ รวมไปถึงหญิงที่ตั้งครรภ์ ซึ่งส่งผลให้พบทารกติดเชื้อตั้งแต่กำเนิดเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยโรคซิฟิลิสสามารถรักษาให้หายขาดได้ หากพบว่าตนเองมีความเสี่ยง ควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว

อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่นี่