
อาการคัน และผื่นแดงจากเชื้อราบนผิวหนัง มักจะเป็นปัญหาที่กวนใจสำหรับผู้ชายหลายคน เนื่องจากผู้ชายมักมีกิจกรรมต่าง ๆ อย่างการเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่อความอับชื้นได้ง่าย ซึ่งผิวหนังที่อับชื้นนั้นจะเป็นสภาพแวดล้อมที่เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะผิวหนังใต้ร่มผ้า อย่างไรก็ตาม
การรักษาเชื้อราบนผิวหนังมักไม่ซับซ้อน เพียงดูแลความสะอาดของร่างกายอย่างเหมาะสมร่วมกับการใช้ยารักษาที่มีประสิทธิภาพก็อาจเพียงพอแล้ว
เชื้อราบนผิวหนังในผู้ชายเป็นปัญหาที่ไม่ควรละเลย เพราะเชื้ออาจลุกลามไปยังผิวหนังบริเวณใกล้เคียงหากไม่รักษาให้หายขาด โดยอาจรุนแรงขึ้นจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตได้ ซึ่งเชื้อราแต่ละชนิดจะทำให้เกิดโรคผิวหนังที่แตกต่างกันไป ตัวอย่างโรคติดเชื้อราบริเวณผิวหนังที่พบได้บ่อย เช่น กลาก (Ringworm) เกลื้อน (Tinea Versicolor) ที่เกิดขึ้นบริเวณทั่วไป สังคังหรือเชื้อราบริเวณขาหนีบ (Tinea Cruris) และเชื้อราที่เท้า
ผื่นในร่มผ้าของผู้ชาย มักจะเกิดบริเวณร่มผ้า
(รักแร้ ขาหนีบ อวัยวะเพศ และก้น) โดยผื่นที่เกิดได้ในบริเวณนี้ สามารถแบ่งได้เป็น
ผื่นผิวหนังที่ไม่ได้ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่
- ผื่นผิวหนังอักเสบบริเวณซอกพับ (Intertrigo) เกิดจากการเสียดสี ความชื้น เหงื่อ หรือการระบายอากาศที่ไม่ดี สามารถเกิดได้ทุกวัย ลักษณะเป็นผื่นแดง มีขุย อาจมีอาการคันหรือแสบร้อน บางครั้งอาจมีการติดเชื้อบริเวณผื่นได้
- การติดเชื้อรากลุ่ม Candida (Candidiasis) มีลักษณะเป็นผื่นแดง คัน แฉะ เปื่อยลอก ผื่นขอบเขตชัดเจน มักมีตุ่มแดงขนาดเล็ก หรือตุ่มหนองกระจายอยู่ที่บริเวณขอบของผื่น (satellite lesions) ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะ สามารถยืนยันการวินิจฉัยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (KOH examination) ปัจจัยเสี่ยง คือ ผู้ป่วยเบาหวาน อ้วน ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือยาสเตียรอยด์ เป็นระยะเวลานาน
- กลากบริเวณซอกพับ (Tinea cruris) พบในผู้ชายบ่อยกว่าผู้หญิง สามารถติดต่อจากผู้อื่น หรือจากพาหะนำเชื้อภายใต้สภาพอากาศอับชื้น ลักษณะเป็นผื่นแดงขอบชัด มีขุย คันมาก มักเป็นบริเวณต้นขาด้านในและขาหนีบ สามารถยืนยันการวินิจฉัยจากการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (KOH examination) ได้เช่นเดียวกัน

ผื่นผิวหนังที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่
- การติดเชื้อไวรัส ซึ่งบางชนิดรักษาหาย บางชนิดไม่มียารักษา บางชนิดจะแฝงตัวและเป็นซ้ำได้อีก เช่น
– เริมที่อวัยวะเพศ (Herpes simplex infection) พบเป็นตุ่มน้ำใสเป็นกลุ่ม ร่วมกับมีอาการปวด แสบ คัน ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ (Tzanck smear)
– หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminata) มีลักษณะเป็นก้อนหรือติ่งเนื้อ ผิวอาจเรียบหรือขรุขระ มีสีชมพู น้ำตาลหรือสีเนื้อ ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางรายอาจต้องตัดชิ้นเนื้อ เพื่อการวินิจฉัย
- การติดเชื้อแบคทีเรีย โดยสามารถรักษาหายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ เช่น
– ซิฟิลิส (Syphilis) โดยในซิฟิลิสระยะที่ 1 ผู้ป่วยจะมีแผลขอบแข็ง ไม่เจ็บ เรียกว่า chancre อาจมีต่อมน้ำเหลืองที่ขาหนีบโต การวินิจฉัยอาศัยการตรวจหาเชื้อ T.Pallidum จากแผล โดยใช้การส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ Dark field microscope
– หนองใน (Gonorrhea) มักตรวจพบหนองบริเวณท่อปัสสาวะ ปัสสาวะแสบขัด บางรายอาจมีอาการแทรกซ้อน เช่น ฝีที่อวัยวะเพศ หรืออัณฑะอักเสบ การตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์เบื้องต้น คือ gram stain และการตรวจเพื่อยืนยันผล (Culture) พบเชื้อ Neisseria gonorrhoeae
โรคในกลุ่มนี้ผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ เนื่องจากจำเป็นต้องได้รับการรักษาที่จำเพาะ และถูกต้อง โดยบางโรคมีการรักษาที่หลากหลายวิธี และอาจแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล รวมทั้งควรต้องมีการตรวจเลือดเพิ่มเติม เช่น anti-HIV, HBsAg, antiHCV เนื่องจากเป็นโรคที่เกิดจากเพศสัมพันธ์ที่อาจเกิดคู่กันกับโรคทางผิวหนังได้ด้วย
สาเหตุของการติดเชื้อราบนผิวหนัง
โดยปกติผิวหนังของคนเราจะมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอาศัยอยู่หลากหลายสายพันธุ์ เชื้อราก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยเชื้อราจะกินเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้ว เส้นผมและเล็บ และสาเหตุ หรือปัจจัยกระตุ้น เช่น สภาพอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทย และความอับชื้นจากเหงื่อ อาจส่งผลให้เชื้อราแพร่พันธุ์ และเพิ่มจำนวนขึ้นจนทำให้ผิวเสียสมดุลของร่างกาย และทำให้ร่างกายติดเชื้อราได้
ปัจจัย และพฤติกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่อโรคผิวหนังชนิดนี้ได้มากขึ้น เช่น
- ขาดสุขอนามัยในการดูแลร่างกาย
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สะอาด อับชื้น หรือใส่เสื้อผ้าซ้ำ โดยเฉพาะถุงเท้าและกางเกงชั้นใน
- สัมผัสกับเชื้อรา เช่น การเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่เปียกและสกปรกหรือในห้องน้ำสาธารณะ การว่ายน้ำในสระที่ไม่ได้รับการฆ่าเชื้ออย่างเหมาะสม การใช้สิ่งของร่วมกับผู้ที่ผิวหนังติดเชื้อรา และการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อรา เป็นต้น
- มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัยกับหญิงที่มีเชื้อราในช่องคลอด
- มีพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดความอับชื้นใต้ร่มผ้า อย่างการสวมเสื้อผ้าที่รัดแน่นและระบายอากาศได้ไม่ดี การเล่นกีฬาหรือกิจกรรมอื่น ๆ ก็อาจทำให้เกิดความอับชื้นสะสมใต้ร่มผ้า โดยเฉพาะบริเวณขาหนีบ รักแร้ และเท้า
- อยู่ในสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว
- ใช้ยาหรือมีปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น การติดเชื้อเอชไอวี โรคเบาหวาน โรคอ้วน มีภูมิคุ้มกันต่ำจากสาเหตุอื่น อยู่ในระหว่างการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะหรืออยู่ระหว่างการรักษาโรคมะเร็ง
- ลักษณะทางร่างกายบางอย่างที่เอื้อต่อการเติบโตของเชื้อรา เช่น ผู้ที่มีเหงื่อออกมากอาจเสี่ยงต่อความอับชื้นใต้ร่มผ้า หรือผู้ที่ไม่ได้ขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศอาจเสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรค เพราะด้านในหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชายเป็นส่วนที่ทำความสะอาดได้ยาก ดังนั้น ผู้ที่ไม่ขลิบหนังหุ้มปลายและขาดการดูแลความสะอาดในบริเวณนั้นจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่าย
นอกจากอาการคันและผื่นแดงแล้ว เชื้อราบนผิวหนังอาจทำให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น ผิวด่างเป็นวง ผิวแห้งลอก ระคายเคือง แสบ หรือบวม ซึ่งอาการเหล่านี้อาจแตกต่างกันตามชนิดของเชื้อราและตำแหน่งที่ติดเชื้อ หากพบบริเวณเท้า บางคนอาจเรียกว่าโรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต หรือเรียกว่า สังคัง หากพบบริเวณขาหนีบ โดยทั่วไป ตำแหน่งของผิวหนังที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราในผู้ชาย ได้แก่ รักแร้ ขาหนีบ เท้า และอวัยวะเพศ แต่ก็สามารถเกิดบริเวณผิวหนังส่วนอื่น ๆ ได้เช่นกัน

เชื้อราบนผิวหนังควรรักษาอย่างไรดี ?
อาการผิวหนังติดเชื้อราควรให้แพทย์หรือเภสัชกร ทำการตรวจพร้อมทั้งรักษาโดยเร็ว เพราะเชื้ออาจลุกลามและเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด หรือคนในครอบครัวได้ การรักษามักเป็นการดูแลความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสมร่วมกับการใช้ยาที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา
โดยยาต้านเชื้อรานั้นมีหลายกลุ่ม แต่ละกลุ่มก็มีการออกฤทธิ์ทั้งที่คล้ายและแตกต่างกัน แต่ยาที่แพทย์มักสั่งจ่ายและหาซื้อได้ทั่วไปส่วนใหญ่จะเป็นยาต้านเชื้อราชนิดทากลุ่มยาอิมิดาโซล (Imidazole) โดยยาในกลุ่มนี้มักใช้รักษาอาการติดเชื้อราบริเวณผิวหนังและส่วนอื่น ๆ อย่างศีรษะ เล็บ และอวัยวะเพศหญิง มีอยู่หลากหลายรูปแบบ อย่างครีม ยาสอด และยาอม
ตัวอย่างของยาต้านเชื้อรามีดังนี้
- ยาโคลไตรมาโซล (Clotrimazole)
เป็นยาต้านเชื้อราที่หลายคนคุ้นชื่อ สามารถรักษาการติดเชื้อราที่ผิวหนังหลายประเภท เช่น เชื้อราบนผิวหนังทั่วไป เชื้อราในหูชั้นนอก เชื้อราบริเวณอวัยวะเพศหญิง เชื้อราที่ขาหนีบหรือสังคัง เชื้อราที่เท้า เป็นต้น
โดยยาโคลไตรมาโซลจะเปลี่ยนแปลงเยื่อหุ้มเซลล์ของเชื้อรา ทำให้เซลล์เชื้อราหยุดการเจริญเติบโตและตายในที่สุด ตัวอย่างวิธีใช้ คือ ทายาโคลไตรมาโซลชนิดครีมความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์ บริเวณผิวที่ติดเชื้อรา 2-3 ครั้งต่อวัน ติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์ หรือตามแพทย์สั่ง
- ยาไบโฟนาโซล (Bifonazole)
เป็นอนุพันธ์ของอิมิดาโซล อยู่ในกลุ่มเดียวกับยาโคลไตรมาโซล มักใช้รักษาการติดเชื้อราบนผิวหนังคล้ายกับยาโคลไตรมาโซล เช่น กลาก เกลื้อน สังคัง เชื้อราที่เท้า เป็นต้น โดยนอกจากฤทธิ์ในการกำจัดเชื้อราแล้ว ยาไบโฟนาโซลยังช่วยลดการอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อได้
ยานี้สามารถลดการอักเสบได้ใกล้เคียงกับการใช้ยาไฮโดรคอร์ติโซนหรือสเตียรอยด์ โดยที่ตัวยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายน้อยมาก ทำให้โอกาสเกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายโดยรวมต่ำมากเช่นกัน ตัวอย่างวิธีการใช้ยา คือ ทายาไบโฟนาโซลชนิดครีมความเข้มข้น 1 เปอร์เซ็นต์บริเวณที่ผิวติดเชื้อรา 1 ครั้งก่อนนอน ติดต่อกัน 2-4 สัปดาห์ หรือใช้ตามแพทย์สั่งอย่างต่อเนื่อง แม้มีอาการดีขึ้นแล้วก็ตาม
การดูแลความสะอาดของร่างกายอย่างไรให้เหมาะสม
การรักษาด้วยยาควรดูแลความสะอาดของร่างกายอย่างเหมาะสมควบคู่ไปด้วยเพื่อป้องกันผิวหนังเกิดการติดเชื้อราซ้ำ ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดความเสี่ยงในการได้รับเชื้อ ดังนี้
- ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายอย่างเหมาะสม
- สวมใส่เสื้อผ้าที่สะอาด ไม่อับชื้น ไม่สวมเสื้อผ้าหรือถุงเท้าซ้ำ
- หมั่นทำความสะอาดรองเท้าเป็นประจำด้วยการซักหรือพึ่งแดด โดยเฉพาะรองเท้ากีฬา
- หลีกเลี่ยงการเดินเท้าเปล่าบนพื้นที่เปียกแฉะหรือไม่แน่ใจเรื่องความสะอาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อรา
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของส่วนตัวร่วมกับคนอื่น
- ใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์
- อาบน้ำทันทีหลังออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่มีเหงื่อออกมาก
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือกำลังใช้ยาบางอย่างที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อราบนผิวหนัง ควรปรึกษาแพทย์ถึงที่วิธีในการลดความเสี่ยง
อ่านบทความที่เกี่ยวข้องที่นี่
อ้างอิงข้อมูลจากเว็บไซต์ :
- ผื่นในร่มผ้าเพศชาย https://theworldmedicalcenter.com/th/new_site/health_article/detail/?page=ผื่นในร่มผ้าเพศบาย
- คันในร่มผ้าและเชื้อราบนผิวหนังในผู้ชาย แก้อย่างไรให้ถูกจุด https://www.pobpad.com/คันในร่มผ้าและเชื้อราบ